หมอออนไลน์: เยื่อบุหัวใจอักเสบ (Bacterial endocarditis) เยื่อบุหัวใจอักเสบ หมายถึง การอักเสบของเยื่อบุผนังด้านในของหัวใจ (endocardium) ถือเป็นภาวะร้ายแรง หากไม่ได้รับการรักษา อาจตายได้รวดเร็ว โรคนี้พบมากในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก
สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่พบบ่อยได้แก่ สเตรปโตค็อกคัส และสแตฟีโลค็อกคัส
ผู้ป่วยมักจะมีความพิการของลิ้นหัวใจอยู่ก่อน เช่น ลิ้นหัวใจพิการจากโรคหัวใจรูมาติก หรือลิ้นหัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นต้น เมื่อร่างกายมีการติดเชื้อ เช่น เชื้อเข้าร่างกายขณะถอนฟันหรือสอดใส่เครื่องมือในทางเดินหายใจหรือทางเดินปัสสาวะ เป็นโรคเหงือกอักเสบ ทำแท้ง ฉีดเฮโรอีน (ด้วยเข็มไม่สะอาด) หรือติดเชื้อจากการผ่าตัด เป็นต้น เชื้อโรคก็จะผ่านกระแสเลือดเข้าไปทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุหัวใจและลิ้นหัวใจ ในที่สุดเชื้อโรคก็จะแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย
อาการ
มีไข้สูง หนาวสั่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและตามข้อ และอาจมีอาการเลือดออก เช่น มีเลือดกำเดาไหล หรือมีจุดแดงจ้ำเขียวขึ้นตามตัว
ผู้ป่วยมักมีอาการซีด (โลหิตจาง) ซึ่งจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ
ถ้าเป็นรุนแรง อาจมีภาวะหัวใจวาย อัมพาตครึ่งซีก ภาวะไตวาย ร่วมด้วย
ในรายที่เป็นชนิดเฉียบพลัน (acute bacterial endocarditis) ผู้ป่วยมักมีอาการเกิดขึ้นฉับพลันทันทีและมีความรุนแรงแทรกซ้อนขึ้นรวดเร็ว มักเกิดจากการติดเชื้อสแตฟีโลค็อกคัส และมักไม่มีประวัติความพิการของลิ้นหัวใจมาก่อน
ในรายที่เป็นชนิดเรื้อรัง (subacute bacterial endocarditis) ผู้ป่วยมักมีอาการค่อยเป็นค่อยไปอย่างเรื้อรัง บางรายอาจมีไข้นานเป็นแรมเดือน ซีด และผ่ายผอมลงเรื่อย ๆ มักเกิดจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัส ซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่าเชื้อสแตฟีโลค็อกคัส
ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้มีภาวะโลหิตจาง เลือดออกง่าย หัวใจวาย ไตวาย อัมพาต โลหิตเป็นพิษ
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
ไข้สูง ซีด มีจุดแดง (จุดเลือดออกขนาดเท่าเข็มหมุด) ขึ้นตามผิวหนัง เยื่อบุตา กระพุ้งแก้ม และที่ใต้เล็บ หัวใจเต้นเร็ว ม้ามโต ใช้เครื่องฟังตรวจหัวใจ มักได้ยินเสียงฟู่ (murmur)
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการเจาะเลือดส่งเพาะเชื้อ (hemoculture) ตรวจเอกซเรย์ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และถ้าจำเป็นอาจต้องทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล ให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่พบ และรักษาภาวะแทรกซ้อนที่พบร่วม เช่น ภาวะหัวใจวาย ภาวะไตวาย อัมพาต โลหิตจาง เป็นต้น
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีไข้สูง หนาวสั่น หอบเหนื่อย หรือมีไข้เรื้อรังเป็นสัปดาห์ ๆ ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็น เยื่อบุหัวใจอักเสบ ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด
การป้องกัน
ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดหรือโรคหัวใจรูมาติก เคยผ่าตัดใส่ลิ้นหัวใจเทียม หรือเคยเป็นโรคนี้มาก่อน ก่อนและหลังการถอนฟันหรือให้แพทย์ตรวจรักษาโดยการสอดใส่เครื่องมือหรือสายสวนในทางเดินหายใจ หรือทางเดินปัสสาวะ แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันมิให้เกิดโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบแทรกซ้อน
ข้อแนะนำ
ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดหรือโรคหัวใจรูมาติก หรือเคยผ่าตัดใส่ลิ้นหัวใจเทียม มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ หากมีไข้สูง หนาวสั่น หรือเป็นไข้เรื้อรัง ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว ซึ่งหากได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ มีโอกาสหายได้