ศูนย์ข้อมูลโควิด-19: LONG COVID เจ็บแต่ไม่จบ – ภาวะลองโควิด อาการเรื้อรังที่ตามมาของคนเคยติดเชื้อโควิด-19Long COVID คืออะไร?
การติดเชื้อโควิด-19 นับว่าเป็นโรคที่ส่งผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพราะว่าหลังจากรักษาหายแล้ว แต่หลายคนยังรู้สึกเหมือนยังไม่หายดี เพราะว่าระหว่างการติดเชื้อ ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อไปจับกับเซลล์โปรตีนของบางอวัยวะ ทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย เป็นผลให้อวัยวะนั้นๆ ได้รับความเสียหาย ส่งผลกระทบไปทั่วร่างกาย เช่น อาการปอดบวม หรือ เนื้อปอดถูกทำลาย โดยระดับความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในรักษา และการกำจัดเชื้อโควิดในร่างกาย เราเรียกภาวะนี้ว่า “โควิดระยะยาว (Long COVID)” โดยกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า สามารถพบได้ถึง 30-50% สาเหตุหลักมาจาก เครียดสะสม หรือเป็นผลข้างเคียงของยาที่ใช้ เช่น ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ โรคแฝง หรือบางรายอาจติดเชื้อโควิดซ้ำแต่คนละสายพันธุ์
Long COVID อาการเป็นอย่างไร?
Long COVID เป็นภาวะหรืออาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโควิด-19 หลังจากได้รับเชื้อนาน 4 สัปดาห์ไปจนถึง 12 สัปดาห์ขึ้นไป อาการที่พบมีหลากหลายและแตกต่างกัน
อาการที่พบบ่อยที่สุด มีตั้งแต่ไม่รุนแรงจนถึงทำให้ร่างกายทรุดโทรม และมีผลระยะยาวตั้งแต่หลายสัปดาห์จนถึงหลายเดือนหลังหายจากโควิด-19 โดยอาการที่พบมากที่สุด คือ เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ สมาธิสั้น ผมร่วง หายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม การรับรสชาติและการรับกลิ่นเปลี่ยนไป เจ็บหน้าอก หายใจถี่ ปวดตามข้อ ไอ ท้องร่วง กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีภาวะสมองล้า นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (Post-Traumatic Stress Disorder)
สามารถพบอาการของ Long COVID ในผู้ป่วยนอก 35 % และผู้ป่วยใน 87% โดยอาการที่เกิดขึ้นอาจยาวนานถึง 3 เดือนขึ้นไป
ภาวะแทรกซ้อนของโควิด-19
เกิดขึ้นได้ในระยะ 1-2 เดือน มีตั้งแต่ อาการหอบเหนื่อย เพลีย พบพังผืดที่ปอด พบความผิดปกติที่ปอด เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน พบความผิดปกติเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราแทรกซ้อน เกิดการอักเสบภายในอวัยวะสำคัญ เช่น ตับอักเสบเฉียบพลัน การทำงานของไตบกพร่อง ไตวายเฉียบพลัน ปัญหาทางระบบประสาท กล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการนอนในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ภาวะซึมเศร้า โรคนอนไม่หลับ
ผู้ป่วยที่ได้รับยาในกลุ่มสเตียรอยด์ อาจจะมีอาการแสบกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน ระดับน้ำตาลไม่คงที่ และเบาหวาน
ใครคือกลุ่มเสี่ยง?
ผู้สูงอายุ เพศหญิงมากกว่าเพศชาย ผู้ที่มีภาวะอ้วน ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคเบาหวาน ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ และผู้ที่เคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนัก หรือผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ก็สามารถมีโอกาสเกิดอาการ Long COVID ได้ แต่จะไม่พบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันจากการรับวัคซีน
ป่วยเป็นโควิดหายแล้ว ต้องดูแลตนเองอย่างไร?
หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ไอมาก เหนื่อยง่าย หรือรู้สึกอาการแย่ลง ควรรีบกลับมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษา เช่น ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน หลอดเลือดหัวใจอุดตัน ลิ่มเลือดในปอดอุดตัน
ผู้ป่วยที่มีเชื้อลงปอด นอนโรงพยาบาลนาน ได้รับออกซิเจนหรือใช้เครื่องช่วยหายใจ ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่องจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด
ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือพบโรคประจำตัวใหม่ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ ควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
ผู้ป่วยที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโควิดหรือยังฉีดไม่ครบตามกำหนด ควรรับการฉีดวัคซีนได้ภายใน 1-3 เดือน หลังจากหายป่วย
ผู้ป่วยที่เพิ่งหาย ยังไม่แนะนำให้ออกกำลังกายมากหรือเหนื่อยเกินไป ควรปรับให้เป็นการออกกำลังแบบเบาๆ เช่น เคยวิ่งอาจปรับเป็นเดินก่อน เพื่อให้ปอดทำงานไม่หนักจนเกินไปและร่างกายค่อยๆ ฟื้นตัวและปรับตัวกลับสู่สภาวะที่แข็งแรง
ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง หรือมีอาการเล็กน้อย เมื่อหายจากการติดเชื้อแล้วควรสังเกตอาการของตนเอง หากรู้สึกว่าร่างกายยังอ่อนเพลีย การฟื้นตัวได้ไม่เท่าเดิม แนะนำตรวจสุขภาพ ตรวจเลือดเพื่อดูความผิดปกติของตับ ไต สารบ่งชี้การอักเสบต่างๆ เอกซเรย์ปอด เพื่อแก้ไขให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว
หลังการติดเชื้อโควิด ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานตามธรรมชาติและมักจะไม่ติดเชื้อโควิดซ้ำในช่วง 1-3 เดือนแรกหลังหายป่วย แต่ภูมิต้านทานจะค่อยๆ ลดลงและไม่คงอยู่ตลอด ทำให้มีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้อีกในอนาคต จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ เช่น ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ 70% รับประทานอาหารร้อน ช้อนกลาง และไม่ไปในแหล่งชุมชนแออัด หรือสถานที่อากาศไม่ถ่ายเท
ดังนั้น ผู้ที่หายจากโควิด-19 ต้องสังเกตตัวเองอย่างละเอียด ประเมินร่างกายตนเองอยู่เสมอ และฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายอย่างถูกต้อง หากมีอาการดังกล่าวข้างต้นที่รบกวนการใช้ชีวิต แนะนำให้พบและปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุอย่างละเอียด และอาจจะต้องมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อทำการรักษาให้ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น อย่าปล่อยทิ้งไว้จนรุนแรงและเรื้อรัง ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียโอกาสในการรักษาและส่งผลเสียต่อสุขภาพที่มากขึ้นนั่นเอง