โรคความดันโลหิตสูง อันตรายแค่ไหนถ้าไม่รักษาต่อเนื่อง?โรคความดันโลหิตสูง คือ ภาวะที่ความดันโลหิตมีระดับสูงกว่าปกติ คือ มากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท โรคนี้ถือเป็นภัยเงียบที่น่ากลัวเนื่องจากผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการใด ๆ แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายร้ายแรงได้
โรคความดันโลหิตสูง จัดอยู่ในกลุ่มโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรับประทานยาลดความดันโลหิตจะช่วยควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ทำให้ลดโอกาสเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษา และรับประทานยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ไม่ควรหยุดยา เพิ่มหรือลดยาด้วยตนเอง ผู้ป่วยบางรายเมื่อรับประทานยาติดต่อกันมานานแล้วไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ อาจคิดว่าหายจากโรคแล้วจึงหยุดรับประทานยาเอง ทำให้ความดันโลหิตกลับมาสูงขึ้นจนเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้
ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนใดได้บ้าง ?
เส้นเลือดสมองแตกหรือตีบตัน เกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต
หลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย
หัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ
ภาวะหัวใจล้มเหลว ทำให้เหนื่อยง่าย นอนราบไม่ได้ บวม
เส้นเลือดแดงใหญ่ในช่องอกและช่องท้องเสื่อม โป่งพอง และอาจแตกจนทำให้เสียชีวิตอย่างฉับพลัน
เส้นเลือดที่ไตเสียหาย เกิดภาวะไตเสื่อม ไตวาย
เส้นเลือดบริเวณจอประสาทตาเสื่อม ขาดเลือดไปเลี้ยงจอประสาทตา ทำให้มีอาการตาพร่ามัว
จะเห็นได้ว่า หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ จะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอันตรายต่าง ๆ มากมาย ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงจึงควรรับประทานยาลดความดันโลหิตร่วมกับการรักษาร่วมอื่น ๆ เช่น การลดอาหารเค็มและอาหารไขมันสูง การออกกำลังกาย การควบคุมน้ำหนัก การลดความเครียด และมาพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ