หมอออนไลน์: โรคขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome/RLS)โรคขาอยู่ไม่สุข* เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท ทำให้มีอาการขยับขาหรือขากระตุก ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ
พบได้ในคนทุกวัย ตั้งแต่วัยเด็ก และพบมากขึ้นตามอายุ พบมากในช่วงวัยกลางคน ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย และอาการมักรุนแรงกว่า
ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 50 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีอาการตั้งแต่อายุน้อยกว่า 40 ปี มีประวัติว่ามีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย ซึ่งเนื่องมาจากมีกรรมพันธุ์ที่ผิดปกติ
*มีอีกชื่อหนึ่งว่า Willis-Ekbom disease
สาเหตุ
ส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวกับสมองผลิตสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า โดพามีน (dopamine) ได้น้อยกว่าปกติ ซึ่งเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางกรรมพันธุ์ (พบว่าผู้ป่วยบางรายมียีนผิดปกติที่ถ่ายทอดให้ลูกหลานได้)
สารโดพามีนเกี่ยวข้องกับการควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ เมื่อมีน้อยกว่าปกติก็จะทำให้กล้ามเนื้อเกร็งและเคลื่อนไหวโดยอัตโนมัติ โดยปกติโดพามีนจะลดระดับลงในช่วงเย็น ๆ ดังนั้นโรคนี้จึงมักมีอาการเกิดขึ้นในช่วงเย็น ๆ ค่ำ ๆ และตอนกลางคืน
ส่วนน้อยอาจพบว่ามีสาเหตุ คือ พบร่วมหรือเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่น ๆ อาทิ
ภาวะขาดธาตุเหล็ก (เช่น มีเลือดออก มีประจำเดือนออกมาก) ซึ่งอาจทำให้เกิดมีภาวะโลหิตจางหรือไม่ก็ได้ ภาวะขาดธาตุเหล็กทำให้โดพามีนลดลง จึงทำให้เกิดโรคขาอยู่ไม่สุขได้
ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ซึ่งมักมีภาวะขาดธาตุเหล็กและโลหิตจาง
ผู้ที่มีภาวะปลายประสาท (ที่แขนขา) เสื่อม ซึ่งอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน หรือโรคพิษสุราเรื้อรัง
โรคพาร์กินสัน
ไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ หรือการฉีดยาชาเข้าไขสันหลังระหว่างผ่าตัด
หญิงบางคนอาจมีอาการนี้ระหว่างตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาสที่ 3 และหลังคลอดอาการจะหายไปได้เอง
นอกจากนี้พบว่ามียาบางชนิดที่ทำให้อาการรุนแรงขึ้น เช่น ยาแก้แพ้ แก้อาเจียน ยาต้านซึมเศร้า ยาทางจิตประสาท
อาการ
ผู้ป่วยมีความรู้สึกแปลก ๆ ที่ขา เช่น รู้สึกคัน แสบร้อน รู้สึกยิบ ๆ เหมือนมีตัวอะไรไต่ที่ขา รู้สึกปวดตุบ ๆ เจ็บจี๊ด ๆ คล้ายถูกเข็มแทง รู้สึกว่าถูกดึงขา เป็นต้น บางคนอาจบรรยายลักษณะอาการไม่ถูก และมักบอกว่าไม่เหมือนเป็นเหน็บชาหรือเป็นตะคริว ผู้ป่วยมักบอกว่ามีความรู้สึกที่ทนไม่ได้และจะต้องขยับขาเพื่อให้ความรู้สึกนั้นหายไป
บางรายอาจมีอาการที่บริเวณอื่น (เช่น แขน หน้าอก ศีรษะ ใบหน้า) ร่วมด้วยก็ได้ ส่วนใหญ่มักเป็นที่ขา 2 ข้าง อาจเป็นข้างหนึ่งก่อนแล้วเป็นอีกข้างตามมา หรืออาจเป็นเพียงข้างเดียว
มักเป็นในช่วงเวลานั่งนิ่ง ๆ นาน ๆ (เช่น ระหว่างอยู่ในห้องประชุม ชมภาพยนตร์ นั่งรถ หรือเครื่องบิน) หรือเวลานอน มักเป็นมากในช่วงเย็น ๆ ค่ำ ๆ จนถึงกลางดึก อาการมักน้อยลงในช่วงย่ำรุ่ง และเวลานวดคลึงหรือเคลื่อนไหวขา (เช่น ยืดเหยียดขา ขยับขาไปมา ก้าวเดิน) อาการมักจะทุเลาลง
อาการที่เป็นแต่ละครั้งมีความรุนแรงไม่เท่ากัน บางครั้งอาจเป็นเพียงเล็กน้อย บางครั้งอาจรุนแรงถึงทำให้นอนไม่หลับ อาจมีอาการทุกวัน หรืออาจเป็น ๆ หาย ๆ เป็นครั้งคราว
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีภาวะขากระตุกขณะนอนหลับ (periodic limb movement disorder/PLMD) ร่วมด้วย โดยมักมีอาการขากระตุกโดยอัตโนมัติตอนนอนหลับเป็นครั้งคราว แต่ละคราวมักมีอาการกระตุกซ้ำ ๆ ทุก 20-40 วินาที บางครั้งอาจรุนแรงถึงทำให้ตื่นขึ้น
ภาวะแทรกซ้อน
โรคนี้มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ส่วนใหญ่จะทำให้มีปัญหานอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ เนื่องจากมีอาการตื่นกลางดึก หรือหลับ ๆ ตื่น ๆ ตลอดคืน ส่งผลให้กลางวันง่วงนอน ทำงานไม่ได้เต็มที่
ในรายที่มีอาการรุนแรงทำให้สูญเสียคุณภาพชีวิต และเกิดภาวะซึมเศร้า
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย (สอบถามจากคนใกล้ชิดในบ้านที่สังเกตเห็นอาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ผู้ป่วยนอนหลับ) และการตรวจร่างกายเป็นหลัก
หากสงสัยมีโรคอื่นร่วมด้วย แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด (ดูภาวะโลหิตจาง ระดับน้ำตาลในเลือด) ตรวจทางระบบประสาท
หากสงสัยมีภาวะนอนไม่หลับจากสาเหตุอื่น เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อาจจำเป็นต้องทำการตรวจความผิดปกติระหว่างการนอนหลับด้วยวิธี "Polysomnography"
การรักษาโดยแพทย์
1. แพทย์จะให้คำแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวในการดูแลตนเอง
2. ถ้ารุนแรง แพทย์จะให้ยาควบคุมอาการ เช่น ยากระตุ้นโดพามีน (เช่น rotigotine, pramipexole) ยากันชัก (เช่น carbamazepine, gabapentin, enacarbil, pregabalin) ยาทางจิตประสาท เป็นต้น
3. ถ้ามีสาเหตุชัดเจน ก็จะให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น ให้ยาบำรุงโลหิต ในรายที่มีภาวะขาดธาตุเหล็ก, ให้ยารักษาโรคเบาหวาน, พาร์กินสัน เป็นต้น
ผลการรักษา ส่วนใหญ่ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ บางรายปลอดจากอาการนานเป็นปี ๆ บางรายอาจมีอาการกำเริบใหม่ หรือเมื่ออายุมากขึ้นอาจมีอาการมากขึ้น
การดูแลตนเอง
หากมีอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคขาอยู่ไม่สุข ควรปรึกษาแพทย์ เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าเป็นโรคนี้ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
ดูแลรักษา ปฏิบัติตัว และติดตามการรักษาตามที่แพทย์แนะนำ
ปฏิบัติตัวด้วยวิธีต่าง ๆ ที่ช่วยให้อาการดีขึ้น เช่น การยืดเหยียดเท้าหรือขาที่มีอาการ การลุกขึ้นเดินไปมา การบีบนวด การแช่เท้าในน้ำอุ่น การประคบด้วยความร้อนหรือความเย็น การนวดด้วยเครื่องสั่น (vibration) เป็นต้น
นอนหลับให้เพียงพอ
ออกกำลังกายที่ไม่หักโหมมาก เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ
หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้เกิดอาการ
ควรกลับไปปรึกษาแพทย์ ถ้าอาการไม่ทุเลาใน 2-3 สัปดาห์ หรือหลังทุเลาดีแล้วกลับมีอาการกำเริบใหม่ หรือมีอาการที่สงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา
การป้องกัน
ส่วนใหญ่ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล
อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค โดยการป้องกันหรือรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น ภาวะขาดธาตุเหล็ก เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง พาร์กินสัน
ข้อแนะนำ
โรคนี้มักเป็นเรื้อรังไม่หายขาด แต่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ยกเว้นอาจทำให้นอนไม่หลับ หรือเกิดภาวะซึมเศร้า ควรดูแลรักษาอย่างจริงจังก็จะช่วยให้อาการทุเลาและมีคุณภาพชีวิตที่ดี