Doctor At Home: ความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่า (Orthostatic Hypotension) Orthostatic Hypotension (ความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่า) เป็นภาวะที่ความดันโลหิตในร่างกายลดต่ำลงอย่างฉับพลันจากการเปลี่ยนท่าทางกะทันหัน พบขณะเปลี่ยนท่าเป็นลุกขึ้นยืนอย่างรวดเร็วจากท่านั่งหรือนอน เนื่องจากเลือดในร่างกายไหลเวียนกลับสู่หัวใจน้อยลง ส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการผิดปกติตามมา เช่น เวียนศีรษะ หน้ามืด หรือเป็นลม เป็นต้น
ภาวะ Orthostatic Hypotension เป็นภาวะความดันโลหิตต่ำชนิดหนึ่งที่เกิดได้จากหลายปัจจัย แต่ผู้สูงอายุอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงอายุ 65 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม อาการส่วนใหญ่มักไม่รุนแรงและเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ผู้ที่เกิดภาวะนี้บ่อย ๆ อาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะผิดปกติบางอย่างทางร่างกายที่รุนแรง ดังนั้น ผู้ป่วยควรหมั่นสังเกตอาการ และไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมหากอาการต่าง ๆ มีความรุนแรงขึ้น
อาการของ Orthostatic Hypotension
ผู้ที่มีภาวะ Orthostatic Hypotension มักพบอาการเวียนหรือมึนศีรษะขณะกำลังเปลี่ยนท่าทางจากท่านั่งหรือนอนเป็นท่าลุกขึ้นยืน โดยอาการมักเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว โดยเฉพาะในช่วงเช้าของวัน ช่วงที่ร่างกายขาดน้ำ ช่วงที่ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือในขณะที่สภาวะแวดล้อมหรือร่างกายมีอุณหภูมิสูง จากนั้นอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น
ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่น สายตาพร่ามัว อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ปวดศีรษะ หายใจไม่อิ่ม ไม่มีสมาธิ สับสน รู้สึกร้อนวูบวาบ มีเหงื่อออกมาก ใจสั่น กล้ามเนื้อสั่น หรืออาจเป็นลม เป็นต้น
โดยส่วนใหญ่ อาการต่าง ๆ จากภาวะ Orthostatic Hypotension มักไม่รุนแรง แต่ผู้ที่เกิดอาการบ่อย ๆ หรือเกิดความผิดปกติอื่นร่วมด้วย อย่างเจ็บหน้าอก ล้ม หมดสติ หรือเกิดภาวะช็อก (Shock) ซึ่งจะมีอาการตัวซีดหรือเย็น เหงื่อออกมากผิดปกติ หายใจถี่ หรือมีชีพจรต่ำ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม
สาเหตุของ Orthostatic Hypotension
โดยปกติ ความดันโลหิตในขณะลุกขึ้นยืนจะลดต่ำลงจากการที่หัวใจมีเลือดไหลเวียนกลับมาน้อยกว่าปกติ เนื่องจากขณะเปลี่ยนท่าจากการนั่งหรือนอนเป็นท่ายืน เลือดในร่างกายไหลเวียนลงสู่ช่วงท้องและขามากขึ้นตามแรงโน้มถ่วง ซึ่งร่างกายจะปรับความดันโลหิตให้กลับสู่ภาวะปกติโดยการกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดและหดขนาดหลอดเลือดบริเวณช่วงท้องและขาให้ตีบลง
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีภาวะ Orthostatic Hypotension จะพบว่ากลไกการปรับความดันโลหิตในข้างต้นทำงานผิดปกติไป โดยอาจเกิดขึ้นอย่างไม่ทราบสาเหตุ หรือมีปัจจัยบางอย่างที่เกี่ยวข้อง เช่น
อายุเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงอายุ 65 ปีขึ้นไป ประสิทธิภาพของร่างกายในการปรับความดันโลหิตจะลดลง
ความผิดปกติทางหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ ภาวะหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจวาย เป็นต้น
ความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) หรือภาวะสมองเสื่อมชนิด Lewy Body เป็นต้น
โรคหรือภาวะผิดปกติบางชนิด เช่น ความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ โรคแอดดิสัน (Addison’s Disease) เบาหวาน ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะขาดน้ำ หรือภาวะโลหิตจาง เป็นต้น
การใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาความดันโลหิตสูง ยารักษาโรคหัวใจ ยารักษาพาร์กินสัน ยาต้านอาการทางจิต ยาคลายกล้ามเนื้อ ยารักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ยาต้านเศร้า หรือยาแก้ปวดชนิดเสพติด (Narcotics) เป็นต้น
นอกจากนี้ Orthostatic Hypotension ยังอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่น เช่น การรับประทานอาหารเนื่องจากเลือดในร่างกายจะไหลเวียนไปยังบริเวณลำไส้มากขึ้นในขณะย่อยอาหาร การตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วง 24 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ภาวะขาดวิตามินบี 12 การเสียเลือดในปริมาณมาก การนอนอยู่กับที่เป็นระยะเวลานาน การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก หรือการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนเกินไป เป็นต้น
การวินิจฉัย Orthostatic Hypotension
แพทย์จะสอบถามอาการผิดปกติและประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย อย่างโรคประจำตัวหรือประวัติการใช้ยา ร่วมกับการตรวจร่างกายในเบื้องต้น หากแพทย์เห็นว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มมีภาวะ Orthostatic Hypotension แพทย์จะตรวจวัดความดันโลหิตของผู้ป่วยขณะยืน นั่ง หรือนอน โดยแพทย์จะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีภาวะ Orthostatic Hypotension กรณีที่อยู่ในเกณฑ์ต่อไปนี้
ค่าความดันโลหิตช่วงหัวใจบีบตัว (Systolic Blood Pressure) หรือความดันตัวบนลดลง 20 มิลลิเมตรปรอท (mmHg) ในช่วงหลังจากลุกขึ้นยืนเป็นเวลาประมาณ 2–5 นาที
ค่าความดันโลหิตช่วงหัวใจคลายตัว (Diastolic Blood Pressure) หรือความดันตัวล่างลดลง 10 มิลลิเมตรปรอท ในช่วงหลังจากลุกขึ้นยืนเป็นเวลาประมาณ 2–5 นาที
ผู้ป่วยเกิดอาการผิดปกติที่เข้าข่ายภาวะนี้ขณะยืนขึ้น
จากนั้น หากแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีภาวะ Orthostatic Hypotension แพทย์อาจตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติมตามปัจจัยเสี่ยงของแต่ละคน เพื่อหาสาเหตุและนำผลที่ได้ไปใช้พิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน เช่น การตรวจเลือด การใช้เตียงปรับระดับร่วมกับการวัดความดันโลหิต (Tilt Table Test) การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: EKG) หรือการทำเอ็กโคหัวใจ (Echocardiogram) เป็นต้น
การรักษา Orthostatic Hypotension
แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาผู้ป่วยแต่ละคนตามสาเหตุ เช่น การผ่าตัดหรือการใช้ยาบางชนิดสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ เพิ่มปริมาณการดื่มน้ำให้มากขึ้นกรณีผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำ ปรับปริมาณยาบางชนิดที่อาจเป็นสาเหตุ สวมถุงน่องทางการแพทย์หรืออุปกรณ์รัดหน้าท้องเพื่อลดปริมาณการไหลเวียนโลหิตบริเวณขา เป็นต้น
หากผู้ป่วยมีภาวะ Orthostatic Hypotension ขั้นรุนแรง แพทย์อาจใช้ยาบางชนิดในการรักษาร่วมด้วย เพื่อเพิ่มระดับเลือดในร่างกาย หรือหดตัวหลอดเลือดให้ตีบลง เช่น ยาฟลูโดรคอร์ติโซน (Fludrocortisone) ยามิโดดรีน (Midodrine) หรือยาอีริโทรโพอิติน (Erythropoietin) เป็นต้น
นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างร่วมกับการรักษาทางการแพทย์ โดยให้หลีกเลี่ยงการลุกขึ้นยืนอย่างรวดเร็วจากท่านั่งหรือนอน หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ร้อน หลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้าง หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง หรือกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีภาวะความดันโลหิตสูงร่วมด้วย แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเพิ่มปริมาณการรับประทานเกลือในแต่ละเมนูอาหารให้มากขึ้น เพื่อรักษาระดับน้ำในร่างกาย
ภาวะแทรกซ้อน Orthostatic Hypotension
ผู้ที่มีภาวะ Orthostatic Hypotension อย่างเรื้อรังและไม่ได้รับการรักษา โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ อาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือได้รับบาดเจ็บจากการเป็นลม เช่น หกล้ม กระดูกหัก หรือเกิดการกระทบกระเทือนบริเวณสมอง เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือภาวะผิดปกติรุนแรงอื่น ๆ อย่างโรคหลอดเลือดสมองจากการที่สมองมีเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงไม่เพียงพอ ภาวะช็อกหรือการทำงานของอวัยวะล้มเหลวจากภาวะความดันโลหิตต่ำ หรือโรคทางหัวใจและหลอดเลือด อย่างภาวะหัวใจวาย และหัวใจเต้นผิดจังหวะ
การป้องกัน Orthostatic Hypotension
เนื่องจากภาวะ Orthostatic Hypotension เป็นภาวะที่เกิดได้จากหลายปัจจัย การป้องกันอาจทำได้ยาก แต่ในเบื้องต้นอาจลดความเสี่ยงได้ปฏิตามวิธีต่อไปนี้
ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย แต่ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
ควบคุมปริมาณอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงในแต่ละมื้ออาหารให้พอเหมาะ
หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง
ปรับหมอนหนุนศีรษะขณะนอนให้สูงขึ้น
หลีกเลี่ยงการลุกขึ้นยืนอย่างรวดเร็วขณะนั่งหรือนอน
ขยับหรือเปลี่ยนท่าทางบ่อย ๆ หากต้องยืนหรืออยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน