Bypass กระเพาะอาหาร.การรักษาที่มากกว่าแค่ “ลดน้ำหนัก”“พรุ่งนี้ค่อยลด” คนที่มีความคิดแบบนี้แว๊บขึ้นมาทุกครั้งเวลาเจอของอร่อย หรือมีของอร่อยวางอยู่ตรงหน้า ก็มักเผลอลืมตัว “กินตามใจปาก” แบบนี้วนไป กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ตอนอิ่มแล้วถึงกลับมาตั้งใจลดน้ำหนักอีกครั้ง ท้ายที่สุด “การตามใจปาก” ก็อาจส่งผลให้ต้องใช้ตัวช่วยแก้ปัญหา ด้วยวิธีผ่าตัด Bypass กระเพาะอาหารตามมา
Bypass กระเพาะอาหาร ทางเลือกเพื่อลดน้ำหนัก
การผ่าตัดแบบบายพาสเป็นมาตรฐานที่ใช้ในการลดน้ำหนักเพื่อรักษาโรคร่วมที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนมาอย่างยาวนาน ผลการผ่าตัดพบว่าผู้ป่วยมีน้ำหนักลดลง 30-40% ส่งผลให้สุขภาพดีขึ้น ทำให้โรคเบาหวานหายหรือดีขึ้น ความดันโลหิตสูงดีขึ้น ไขมันเกาะตับดีขึ้น เป็นต้น “การทำบายพาสกระเพาะอาหาร คือการปรับขนาดกระเพาะอาหารให้เล็กลง แล้วทำทางเชื่อมของทางเดินอาหารใหม่ เพื่อทานได้ลดลงและลดการดูดซึมอาหารบางส่วน นอกจากนี้ยังช่วยปรับฮอร์โมนเกี่ยวกับความหิวและความอิ่มของร่างกาย โดยเป็นการผ่าตัดผ่านกล้องเจาะรูขนาดเล็ก ขนาด 5 มิลลิเมตร ประมาณ 5 รูที่ผนังหน้าท้อง เพื่อเข้าไปทำขนาดกระเพาะให้เล็กลง ประมาณ 30 cc. หลังจากนั้นแพทย์จะปรับเปลี่ยนทางเดินบริเวณลำไส้เล็กส่วนที่รับอาหาร เพื่อนำไปต่อกับกระเพาะด้านบน และเย็บปิดแผลด้วยไหมละลาย”
สิ่งที่ต้องทำ ก่อน – หลัง รักษา
ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อน และหลังเข้ารับการผ่าตัดบายพาส มีรายละเอียดดังนี้
เจาะเลือด เอกซ์เรย์ปอด
ส่องกล้องทางเดินอาหาร เพื่อเช็คก้อน ไส้เลื่อนกระบังลม หรือกระเพาะอาหารอักเสบ
ตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง ดูภาวะไขมันเกาะตับ และนิ่วในถุงน้ำดี หากพบนิ่วในถุงน้ำดีแพทย์อาจจะพิจารณาผ่าตัดพร้อมการทำบายพาส
ตรวจภาวะการนอนหลับ ในผู้มีอาการต้องสงสัยว่าหยุดหายใจขณะนอนหลับ สังเกตง่ายๆ คือนอนกรน ปวดศีรษะ ปวดท้ายทอย ตื่นมาแล้วไม่สดชื่น ง่วง เพลียตอนบ่าย เพื่อปรับสภาพร่างกายก่อนเข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากผู้ป่วยที่มีน้ำหนักมากบางรายอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับร่วมด้วย
ต้องมาติดตามการรักษาร่วมกับแพทย์หลังจากผ่าตัดแล้วอย่างสม่ำเสมอ
การปรับพฤติกรรมการกิน เน้นอาหารประเภทโปรตีน ในปริมาณ 60 – 80 กรัม ต่อวัน เนื่องจากเมื่อกินได้น้อยลง จึงต้องเลือกกินของที่มีประโยชน์ ลดอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต น้ำหวาน แป้ง น้ำตาล
การผ่าตัดแบบบายพาสควรจะต้องเลือกกินวิตามินเสริม ได้แก่ แคลเซียม วิตามินบี ซิงค์ หรือธาตุเหล็ก และต้องตรวจเช็คระดับวิตามินบี 12 ทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี เพื่อป้องกันภาวะขาดวิตามินบี 12
นอกจากได้ลดน้ำหนักแล้ว การผ่าตัดแบบ Laparoscopic Sleeve Gastrectomy หรือ Sleeve ยังมีข้อดีที่เหนือกว่า “ที่ชัดเจนที่สุด” คือ
รักษาคนที่มีภาวะกรดไหลย้อนรุนแรง เพราะการบายพาสช่วยรักษาโรคกรดไหลย้อนได้ด้วย
ลดน้ำหนักได้มากกว่าแบบสลีฟ ส่งผลให้น้ำหนักลดลงได้มาก ลดอากาสน้ำหนักฟื้นคืนในระยะยาว
มีโอกาสหายจากเบาหวานมากกว่าการผ่าตัดวิธีอื่น ในผู้เป็นเบาหวาน เนื่องจากการผ่าตัดบายพาสจะช่วยกระตุ้นฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นฮอร์โมนความอิ่มได้ดีกว่าแบบสลีฟ
โดยสรุป การผ่าตัดโรคอ้วนมีหลายวิธี ทั้งแบบบายพาส สลีฟ สลีฟพลัส เป็นต้น ทั้งนี้การจะเลือกผ่าตัดวิธีไหนขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละคน ต้องเลือกให้เหมาะสมและตัดสินใจร่วมกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วยแต่ละคน ศัลยแพทย์โรคอ้วนที่ดีจะช่วยให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนได้